วันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ศิลปะ

ศิลปะกับการออกแบบ บทเรียนบทเก่าที่อาจต้องทบทวนใหม่

ถ้าพูดถึงคำว่าการออกแบบหรือ “ดีไซน์” (design) เชื่อว่าหลายคนมักจะใช้คำนี้พ่วงติดมากับคำว่า ศิลปะหรือ “อาร์ต”(art) รวมกันเป็นคำว่า Art & Design ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเราเห็นและได้ยินคำสองคำนี้อยู่ด้วยกันตลอดเวลา ไม่ว่าจะจากชื่อสถาบันสอนศิลปะและการออกแบบ (Art & Design School) หลายๆแห่ง หรือจากสื่อต่างๆที่แวดล้อมรอบตัวเราทั้งที่ความจริงแล้ว “ศิลปะกับการออกแบบ” แม้จะเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวพันกันอยู่ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องเดียวกันเสียเมื่อไรถ้าจะเรียกว่าเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” ก็ไม่น่าจะผิดนัก ไม่ได้ต่างแค่เรื่องภาษาลองมาดูคำนิยามของสองสิ่งนี้ก่อน ตามพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิยสถานปีพ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายของ “ศิลปะ”ว่าหมายถึง ฝีมือ, ฝีมือทางการช่าง, การทำให้วิจิตรพิศดาร, เช่น เขาทำดอกไม้ประดิดประดอยอย่างมีศิลปะ ผู้หญิงสมัยนี้มีศิลปะในการแต่งตัว รูปสลักวีนัสเป็นรูปศิลป์; การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์ด้วยสื่อต่างๆ อย่างเสียง เส้นสี ผิว รูปทรง เป็นต้น เช่น ศิลปะการดนตรี ศิลปะการวาดภาพ ศิลปะการละคร วิจิตรศิลป์
ส่วนคำว่า “การออกแบบ” นั้นพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิยสถานปีพ.ศ. ๒๕๔๒ ไม่ได้ให้ความหมายไว้ ขณะที่ Oxford Advanced Learner’s Dictionary ปีค.ศ. 2005 ให้ความหมายคำว่า Art ไว้ว่า

1. the expression of creative skill through a visual medium such as painting or sculpture.

2 the product of such a process; paintings, drawings, and sculpture collectively.

3 (the arts) the various branches of creative activity, such as painting, music, and drama.

4 (arts) subjects of study primarily concerned with human culture(as contrasted with scientific
or technical subjects).

5 a skill: the art of conversation.และให้ความหมายของคำว่า design ว่า

1 a plan or drawing produced to show the look and function or workings of something beforeit is built or made.

2 the art or action of producing such a plan or drawing.

3 underlying purpose or planning: the appearance of design in the universe.

4 a decorative pattern.

เมื่อดูความหมายของทั้งสองคำนี้ จะเห็นว่า art & design มันก็เป็นคนละเรื่องเดียวกันจริงๆ ซึ่งหลายคนอาจจะยักไหล่ส่ายหน้าคิดว่า “จะเหมือนหรือจะต่างแล้วมันเป็นตายอย่างไร” ขณะที่หลายคนอาจจะบอกว่า “It doesn’t matter” ทั้งที่จริงๆ แล้วมัน matters!
ที่ว่า It matters ก็เพราะภาษานี่เองที่เป็นตัวคอยกำหนดกรอบความรู้ ความเข้าใจและการรับรู้สารพัดของคนเราที่มีต่อโลกภายนอก นอกจากสัญชาตญาณภายในอย่างความหิว ความต้องการขับถ่าย ฯลฯ มนุษย์เรารับรู้โลกภายใต้กรอบกำจัดของภาษาทั้งสิ้น (นักปรัชญาและภาษาศาสตร์เขาว่าไว้อย่างนั้น จริงหรือไม่ลองช่วยกันคิดดู) เมื่อวัดจากพจนานุกรมทั้งสองภาษาจะพบว่า ชาวตะวันตกมีกรอบความคิด (concept) ที่ชัดเจนต่อความหมายของคำทั้งสอง ขณะที่ไทยเรายังไม่ได้ให้ความหมายของการออกแบบไว้อย่างชัดเจน

จุดเริ่มแตกต่างสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่าง

คงชัดเจนขึ้นแล้วว่า การออกแบบเกิดขึ้นเพื่อมุ่งป้องกันและแก้ไขปัญหาของสิ่งต่างๆ ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติการ ดังนั้น การออกแบบจึงกินความหมายครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกสาขาวิชาที่ต้องการการวางแผนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตคนเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การออกแบบอาคารบ้านเรือน ผังเมือง ถนนหนทาง เพื่อการอยู่อาศัยที่ถูกสุข-ลักษณะ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ที่ตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิต การออกแบบเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ช่วยประหยัดพลังงาน การออกแบบหลักสูตรวิชาภาษาอังกฤษเพื่อให้เรียนรู้ครบทุกทักษะ การออกแบบแผนการทำธุรกิจเพื่อทำกำไรสูงสุด ลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด การออกแบบเวทีละครเพื่อให้เกิดความสวยงามและใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การออกแบบเว็บไซต์เพื่อให้ใช้งานง่าย เข้าใจง่าย ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม หากจะบอกว่าการออกแบบทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เป็นศิลปะการใช้ชีวิตและเป็นศิลปะในการจัดการกับปัญหาในชีวิตอย่างหนึ่งก็คงไม่ผิด แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า ถ้าหากเราเอาการออกแบบไปผูกติดอยู่กับศิลปะ การรับรู้ของเรา จะถูกตีกรอบจำกัดอยู่ในความหมายของทัศนศิลป์ (visual art) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และตรงนี้เองที่ทำให้หลายคนเลิกคิด มองข้าม ละความสนใจ หรือแม้กระทั่งเพิกเฉยต่อการคิดริเริ่มออกแบบ เพราะคิดไปว่า การออกแบบเป็นของที่กินไม่ได้ ไม่เกี่ยวข้องกับปากท้อง ชีวิต และการทำมาหากินโดยตรง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดมหันต์ในทุกวันนี้

หลักสูตรการออกแบบช่วยออกแบบชีวิต

เมื่อเราเห็นลักษณะเฉพาะตัวของศิลปะและการออกแบบในระดับหนึ่งแล้ว ก็มาถึงคำถามที่ว่า “ในเมื่อเรามีการเรียนการสอนวิชาศิลปะในโรงเรียน ทำไมจึงไม่เพิ่มวิชาการออกแบบเข้าไว้ในหลักสูตรบ้าง”

ในเมืองไทยเราหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบมักจะเริ่มในระดับปริญญาตรีขึ้นไป ซึ่งน่าคิดเหมือนกันว่า มันช้าเกินไปหรือไม่ สำหรับการเรียนการสอนที่ปลูกฝังให้เกิดการกระบวนการคิดแก้ปัญหานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อประเทศของเรากำลังสูญเสียศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ (ในแง่ของการเป็นฐานการผลิต) ในหลายๆประเทศอย่างเช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ได้หันมาใช้กลยุทธ์เศรษฐกิจบนความคิดสร้างสรรค์ (Creative Economy) ใช้การออกแบบมาพัฒนาเศรษฐกิจของตนในโลกยุคใหม่ หรือแม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่างจีน ที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ก็กำลังหันมาทำในสิ่งเดียวกัน ตามที่ TCDC ได้เคยรายงานไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม โรงเรียนทางเลือกหลายแห่งในเมืองไทย ได้จัดหลักสูตรให้มีกระบวนการเรียนรู้เชิงปฏิบัติไว้ในการเรียนการสอน อาทิ เมื่อเรียนเรื่องข้าว เด็กๆ ก็จะได้ทดลองปลูกข้าวจริงๆ ได้เรียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษและบทสนทนาที่เกี่ยวข้องกับข้าว และนำความรู้ที่ได้จากการปลูกข้าวมาประยุกต์ใช้กับวิชาอื่นๆ และในสังคมที่เป็นอยู่จริง ซึ่งการทดลองปฏิบัติจะทำให้เด็กๆ ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ และเกิดการคิดหาวิธีแก้ไข ถือเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนฝึกฝนที่จะ “คิด” และ“แก้ปัญหา” ในบริบทของตนเอง อันเป็นหัวใจของการออกแบบสร้างสรรค์ในทุกสาขา

ออกแบบนโยบายชัดเจน อนาคตชัดเจน

นอกจากหลักสูตรการเรียนการสอนแล้ว นโยบายระดับชาติด้านการออกแบบถือเป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องมี ในประเทศที่อุตสาหกรรมด้านการออกแบบถือเป็นสินค้าหลักของชาติ อย่างเช่น ประเทศฝรั่งเศส ที่กำหนดนโยบายสินค้าระดับชาติไว้ชัดเจนมาก ยกตัวอย่างเช่น การมีองค์กรกลางต่างๆ เพื่อควบคุมคุณภาพ และรับรองสินค้า(หรือผลผลิต)ที่อยู่ในความดูแลของตน

ห้องเสื้อชั้นสูง (Chambre Syndicale de la Haute Couture) ในฝรั่งเศส เป็นชื่อที่จะใช้ได้เฉพาะกับห้องเสื้อหรือสำนักแฟชั่นที่เป็นสมาชิก และต้องได้มาตรฐานที่กำหนดเท่านั้น Haute Couture ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายและถูกกำหนดโดยหอการค้าและอุตสาหกรรมปารีส (Chambre de commerce et d’industrie de Paris) โดยผู้ที่จะได้รับสถานะการเป็น Haute Couture จะต้องออกแบบและผลิตงานตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ต้องมี workshop อยู่ในปารีสและจ้างพนักงานขั้นต่ำ 15 คน ในแต่ละปีต้องออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าตามฤดูกาล 4 คอลเลคชั่น แต่ละคอลเลคชั่นไม่ต่ำกว่า 35 ชุด ทั้งชุดกลางวันและกลางคืน เป็นต้น

ตัวอย่างดังกล่าวคงทำให้เราเข้าใจถึงที่มาที่ไปในความสำเร็จของอุตสาหกรรมแฟชั่น และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบได้ดีขึ้น ตลอดจนเข้าใจว่าทำไมงานใหญ่ๆ อย่าง Paris Fashion Week, Milan Fashion Week, LondonFashion Week, Salone Internazionale del Mobile หรือ Milan Fair จึงมีผู้เข้าชมจากทั่วโลกครั้งละเป็นแสนๆคนเห็นได้ชัดว่านโยบายระดับชาติที่ชัดเจน นอกจากจะก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นมาตรฐาน และเป็นการกำหนดแนวทางการสร้างสรรค์ให้กับผู้ออกแบบหรือผู้ประกอบการแล้ว ในอีกมุมหนึ่งยังเป็นการเพิ่มคุณค่า สร้างความน่าเชื่อถือ และทำให้เกิดการยอมรับในระดับโลกได้ง่ายขึ้นอีกด้วย